ระบบนิเวศกับเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (The Philosophy of Sufficiency Economy)
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนา เศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวหน้าต่อยุคโลกาภิวัตน์
ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ ความระมัดระวังอย่างยิ่งในการนำวิชาการต่างๆ
มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการ ทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน มีความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุล และพร้อมต่อการรองรับการ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอก ได้เป็นอย่างดี
การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงระดับบุคคล/ครอบครัว
(Application of Sufficiency Economy at Individual and Family Levels)
เริ่มต้นจากการเสริมสร้างคนให้มีการเรียนรู้ วิชาการและทักษะต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ พร้อมทั้งเสริมสร้างคุณธรรม จนมีความเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกัน
ของคนในสังคม และอยู่ร่วมกับระบบนิเวศวิทยาอย่างสมดุล เพื่อจะได้ละเว้นต่อการประพฤติผิดมิชอบ ไม่ตระหนี่ เป็นผู้ให้ เกื้อกูล แบ่งปัน มีสติยั้งคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะตัดสินใจ หรือกระทำการใดๆ จนกระทั่งเกิดเป็นภูมิคุ้มกัน ที่ดีในการดำรงชีวิตโดยสามารถคิดและกระทำบนพื้นฐานของความมีเหตุมีผล พอเหมาะ พอประมาณกับสถานภาพ บทบาทและหน้าที่ของแต่ละบุคคล ในแต่ละสถานการณ์ แล้วเพียรฝึกปฏิบัติเช่นนี้ จนตนสามารถทำตนให้เป็นพึ่งของตนเองได้ และเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้ในที่สุด
การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงระดับชุมชน
(Application of Sufficiency Economy at the Community Level)
ชุมชนพอเพียง ประกอบด้วย บุคคล / ครอบครัวต่างๆ ที่ใฝ่หาความก้าวหน้าบนพื้นฐานของปรัชญาแห่งความ พอเพียง คือมีความรู้และคุณธรรมเป็นกรอบในการดำเนินชีวิต จนสามารถพึ่งตนเองได้ บุคคลเหล่านี้มารวม กลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องเหมาะสมกับสถานภาพ ภูมิสังคมของแต่ละชุมชน โดยพยายามใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมคิด ร่วมทำ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคคล หลายสถานภาพในสิ่งที่จะสร้างประโยชน์สุขของคนส่วนรวม และความก้าวหน้าของชุมชนอย่างมีเหตุผล โดยอาศัยสติ ปัญญา ความสามารถของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และบนพื้นฐานของความซื่อสัตย์สุจริต อดกลั้นต่อการกระทบกระทั่ง ขยันหมั่นเพียร และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือแบ่งปันกันระหว่างสมาชิกชุมชน จนนำไปสู่ความสามัคคีของคนในชุมชน ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีของชุมชนจนนำไปสู่การพัฒนา ของชุมชนที่สมดุล และพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จนกระทั่งสามารถพัฒนาไปสู่เครือข่ายระหว่างชุมชนต่างๆ
การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงระดับประเทศ
(Application of Sufficiency Economy at the National Level)
มีแผนการบริหารจัดการประเทศ ที่ส่งเสริมให้บุคคล/ชุมชนต่างๆ มีวิถีปฏิบัติ มีความร่วมมือ และการพัฒนาในสาขาต่างๆ ตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และดำเนินการตามแผนดังกล่าวอย่างรอบคอบเป็นขั้นตอน เริ่มจากการวางรากฐานของประเทศให้มีความพอเพียง โดยส่งเสริมให้ประชาชนส่วนใหญ่ สามารถอยู่อย่างพอมีพอกิน และพึ่งตนเองได้ ด้วยมีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และมีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร เอื้อเฟื้อแบ่งปัน และใช้สติปัญญา ในการตัดสินใจและดำเนินชีวิต พร้อมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างกลุ่มคนต่างๆ จากหลากหลายภูมิสังคม หลากหลายอาชีพ หลากหลายความคิด ประสบการณ์ เพื่อสร้างความเข้าใจ และรู้ความเป็นจริง ระหว่างกันของคนในประเทศ จนนำไปสู่ความสามัคคี และจิตสำนึกที่จะร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไป อย่างสอดคล้องสมดุลกับสถานภาพความเป็นจริงของคนในประเทศ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนเป็นลำดับๆ ต่อไป
การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงระดับเกษตรกร
(An Application of Sufficiency Economy for Farmers)
ได้แก่ เกษตรทฤษฏีใหม่
ขั้นตอนที่ ๑ เป็นแนวทางการจัดการพื้นที่เกษตรกรรมในระดับครอบครัว ที่สอดคล้องสมดุลกับระบบนิเวศวิทยา เพื่อให้พออยู่ พอกิน สมควรแก่อัตภาพในระดับที่ประหยัด และเลี้ยงตนเอง/ครอบครัว ได้
ขั้นตอนที่ ๒ การรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์ ร่วมมือกันในการผลิต จัดการตลาด และพัฒนาสวัสดิการของชุมชนในรูปแบบต่างๆ เป็นการสร้างความสามัคคีภายในท้องถิ่น และเตรียมความพร้อม ก่อนก้าวสู่โลกภายนอก
ขั้นตอนที่ ๓ ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อจัดหาทุน วิชาการ ความรู้ เทคโนโลยี จากธุรกิจเอกชน เช่น ธนาคาร บริษัท ห้างร้าน เอกชน ตลอดจน หน่วยงานภาครัฐ มูลนิธิต่างๆ มาช่วยในการลงทุน และพัฒนาคุณภาพชีวิต
โดยสรุป แนวพระราชดำริส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้ และมีการรวมกลุ่มกัน และเชื่อมโยงเครือข่ายในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าไปอย่างสมดุลกับสภาพแวดล้อมในแต่ละท้องถิ่น ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นขั้นตอน โดยประยุกต์ใช้ความรู้ ภูมิปัญญา และทรัพยากรด้านต่างๆ ที่มีอยู่อย่างเหมาะสม บนพื้นฐานของคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร เอื้อเฟื้อแบ่งปัน และใช้สติปัญญา ในการตัดสินใจและดำเนินชีวิต
การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงระดับนักธุรกิจ
(Application of Sufficiency Economy for Businessmen)
นักธุรกิจพอเพียง จะคำนึงถึงความมั่นคงและยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจ มากกว่าการแสวงหาผลประโยชน์ระยะสั้น ฉะนั้นจึงต้องมีความรอบรู้ในธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่ และมีการศึกษาข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มีความรอบคอบในการตัดสินใจในแต่ละครั้ง เพื่อป้องกันข้อบกพร่องเสียหายต่างๆไม่ให้เกิดขึ้น และต้องมีคุณธรรม คือมีความซื่อสัตย์สุจริตในการประกอบอาชีพ ไม่ผลิตหรือค้าขายสินค้าที่ก่อโทษ หรือสร้างปัญหาให้กับคนในสังคมและสิ่งแวดล้อม มีความขยันหมั่นเพียร อดทน ในการพัฒนาธุรกิจไม่ให้มีความบกพร่อง และก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต การปรับปรุงสินค้าและคุณภาพให้ทันกับความต้องการของตลาดและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และในขณะเดียวกัน ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และระบบนิเวศวิทยา ในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ โดยการรักษาสมดุล ในการแบ่งปันผลประโยชน์
ของธุรกิจในระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ อย่างสมเหตุสมผล ตั้งแต่ผู้บริโภค พนักงาน บริษัทคู่ค้า ผู้ถือหุ้น และสังคมวงกว้าง รวมถึงสิ่งแวดล้อม
การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงระดับนักการเมือง
(Application Sufficiency Economy for Politicians)
นักการเมืองที่มีหลักคิด และหลักปฏิบัติบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องเป็นตัวอย่างของผู้นำที่มีความเข้มแข็งทางด้านคุณธรรม จริยธรรม มีความละอายและเกรงกลัวต่อการกระทำความผิด แม้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากการกระทำของผู้นำส่งผลกระทบในวงกว้างต่อชุมชน/สังคม และในขณะเดียวกัน นักการเมืองในทุกระดับ จะต้องรู้จักสังคม ชุมชนที่แต่ละคนเป็นผู้แทน อย่างถ่องแท้ มีความเข้าใจระบบการปกครอง และระเบียบปฏิบัติต่างๆตามกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคม รอบรู้และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยมุ่งที่จะดำเนิน
วิถีทางการเมือง ให้ท้องถิ่น/ประเทศชาติ มีความก้าวหน้าไปอย่างสมดุลในทุก ด้าน คนในท้องถิ่น/ประเทศชาติ อยู่อย่างพอเพียง สมัครสมานสามัคคีปรองดองกัน
การกำหนดนโยบาย การออกกฎหมายและข้อบัญญัติต่างๆ ต้องยึดมั่นอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง โดยบำรุงรักษาสิ่งที่ดีที่มีอยู่แล้ว เช่น ค่านิยม องค์ความรู้ สิ่งแวดล้อมที่ดี ให้คงอยู่ ปรับปรุง/แก้ไข/ยกเลิก ส่วนที่ไม่ดี ที่เป็นเหตุให้เกิดความไม่สมดุล ไม่พอเพียง ในสังคม ให้กลับมาสู่แนวทางปฏิบัติที่มุ่งสู่ความสมดุล และสนับสนุนให้เกิดสิ่งที่ดีเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ยังขาดอยู่ เช่น ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี การพัฒนาฝีมืออาชีพต่างๆ ให้เกิด ให้มีขึ้น อย่างสมดุลกับศักยภาพ และระดับการพัฒนาของท้องถิ่น/ประเทศชาติ เพื่อนำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ของ คน/ชุมชน ในทุกระดับ
การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงระดับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(Application of Sufficiency Economy for Government Officers)
เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องเริ่มต้นสร้างความพอเพียงให้เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคลก่อน โดยตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนในการเป็นผู้ให้บริการแก่สังคม และร่วมเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม และอยู่ร่วมกับระบบนิเวศน์วิทยาได้อย่างสมดุล มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต มีสติยั้งคิด ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบ ในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติหน้าที่ บนพื้นฐานของความมีเหตุมีผล พอประมาณกับศักยภาพและสถานภาพ ของแต่ละบุคคล ในแต่ละสถานการณ์ และหมั่นเสริมสร้างความรู้ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
การเตรียมนโยบาย แผนงาน หรือโครงการต่างๆ ต้องสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเน้นการพัฒนาที่สร้างความสมดุลในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม ให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยมุ่งให้ประชาชน/ชุมชน สามารถพึ่งตนเอง และสามารถเป็นที่พึ่งของสังคม/ประเทศชาติ ได้ในที่สุด
การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียงระดับครูอาจารย์
(Application of Sufficiency Economy for Educators)
ครูอาจารย์จะต้องทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่ นักเรียน/นักศึกษา ในการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงให้ได้ก่อน จึงจะสามารถถ่ายทอด/ปลูกฝัง/อบรม และทำตนให้เป็นตัวอย่างแก่ นักเรียน/นักศึกษา ให้เข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้อง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ผ่านการบูรณาการในสาระเรียนรู้วิชาต่างๆ ตลอดจนสอดแทรกในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนต่างๆ
การดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง ต้องเริ่มจากการตระหนักถึงความจำเป็นของการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม และอยู่ร่วมกับระบบนิเวศน์วิทยาอย่างสมดุล และเข้าใจหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถ่องแท้ จนเห็นว่าเป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติที่จะเสริมสร้างให้สังคมเกิดสันติสุข มีความเจริญก้าวหน้าอย่างสมดุลและยั่งยืน และคนในสังคมมีความสามัคคีปรองดองกัน แล้วฝึกปฏิบัติตนให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต มีสติยั้งคิด ใช้ปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบ ในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติหน้าที่ บนพื้นฐานของความมีเหตุมีผล พอประมาณกับศักยภาพและสถานภาพ ของแต่ละบุคคล ในแต่ละสถานการณ์ และหมั่นเสริมสร้างความรู้ในด้านต่างๆ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี
